หลักเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น
- ความหมาย ความเป็นมาและความสำคัญของเศรษฐศาสตร์
นิยามความหมาย
วิชาเศรษฐศาสตร์ (Economics) คือ วิชาที่ว่าด้วยการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ที่มีไม่จำกัด โดยมุ่งหมายให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุด
คำว่า “เศรษฐศาสตร์” (Economics) เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกว่า “Oikonomikos” (Oikos = บ้าน + nomos = การดูแลจัดการ) ซึ่งแปลว่าการบริหารจัดการของครัวเรือน อย่างไรก็ตามคำว่า “เศรษฐศาสตร์” นั้น มีความหมายที่ลึกซึ้งและมีขอบเขตกว้างกว่ารากศัพท์เดิมมาก
ถ้าพิจารณาคำว่าเศรษฐศาสตร์จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 หมายถึง วิชาว่าด้วยการผลิต จำหน่ายจ่ายแจกและการบริโภคใช้สอยสิ่งต่างๆของชุมชน
ความเป็นมาของวิชาเศรษฐศาสตร์
แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์มีมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว นักปราชญ์สมัยโบราณพยายามสอดแทรกแนวความคิดและกฎเกณฑ์ทางเศรษฐศาสตร์ปะปนอยู่ในหลักปรัชญา ศาสนา ศีลธรรมและหลักปกครอง แต่ความคิดเหล่านี้ยังไม่ถือเป็นทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ เช่น แนวคิดเรื่องการแบ่งงานกันทำของเพลโต (Plato) แนวคิดเรื่องความมั่งคั่ง ของอริสโตเติล (Aristotle) เป็นต้น
ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ได้มีนักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษบุคคลแรกที่วางรากฐานวิชาเศรษฐศาสตร์ คือ อาดัม สมิธ (Adam Smith) ได้เขียนตำราทางเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของโลก ซึ่งมีชื่อค่อนข้างยาวว่า “An Inquiry into the Nature and Causes of the Wealth of Nations” หรือเรียกสั้นๆว่า “The Wealth Nations” (ความมั่งคั่งแห่งชาติ) ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1776 โดยเสนอความคิดว่า รัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศควรเข้าแทรกแซงการผลิตและการค้าให้น้อยที่สุด โดยยินยอมให้เป็นภาระหน้าที่ของเอกชน ทั้งนี้เป็นการสะท้อนถึงแนวความคิดแบบเสรีนิยมหรือส่งเสริมระบบเศรษฐกิจแบบเสรี
จากหนังสือของอาดัม สมิธ ดังกล่าวถือเป็นตำราทางเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญเล่มแรกของโลก และตัวเขาได้รับการยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์” ในสมัยต่อมา
คนไทยรุ่นบุกเบิกที่เรียนวิชาเศรษฐศาสตร์จากต่างประเทศเท่าที่มีการกล่าวถึงในเอกสารมีเพียงไม่กี่ท่าน ท่านหนึ่งคือ กรมหมื่นสรรค์วิไสยนรบดีฯ (พระนามเดิมพระองค์เจ้าดิลกนพรัตน์) พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงศึกษาสำเร็จปริญญาเอกจากประเทศเยอรมนี ในปี พ.ศ.2450 ทรงเขียนวิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิตในเรื่องที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจการเกษตรของไทย ท่านทรงรับราชการเพียง 5 ปี ก็สิ้นพระชนม์ด้วยพระชนมายุเพียง 28 พรรษา
บุคคลสำคัญในกลุ่มบุกเบิกการเผยแพร่วิชาเศรษฐศาสตร์ในประเทศไทยคือ พระยาสุริยานุวัตร ซึ่งเคยดำรงดำแหน่งที่สำคัญคือ เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ท่านเป็นผู้เรียบเรียงและพิมพ์ตำราทางเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของไทย
พระยาสุริยานุวัตร(เกิด บุนนาค)
ชื่อ “ทรัพย์ศาสตร์” ในปี พ.ศ.2454 ต่อมาดร.ทองเปลว ชลภูมิ ผู้สอนวิชาเศรษฐศาสตร์ขออนุญาตจากท่านนำหนังสือดังกล่าวมาจัดพิมพ์ใหม่และให้ชื่อว่า “เศรษฐศาสตร์ภาคต้น” เล่ม 1 และเล่ม 2 เพื่อใช้เป็นตำราเรียน
ชื่อ “ทรัพย์ศาสตร์” ในปี พ.ศ.2454 ต่อมาดร.ทองเปลว ชลภูมิ ผู้สอนวิชาเศรษฐศาสตร์ขออนุญาตจากท่านนำหนังสือดังกล่าวมาจัดพิมพ์ใหม่และให้ชื่อว่า “เศรษฐศาสตร์ภาคต้น” เล่ม 1 และเล่ม 2 เพื่อใช้เป็นตำราเรียน
- แขนงของวิชาเศรษฐศาสตร์
การศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ จำแนกตามเนื้อหาได้ 2 สาขา คือ เศรษฐศาสตร์จุลภาค (Microeconomics)และเศรษฐศาสตร์มหภาค(Macroeconomics)
1) เศรษฐศาสตร์จุลภาค (Microeconomics) เป็นแขนงของวิชาเศรษฐศาสตร์ที่ศึกษาถึงปัญหาและพฤติกรรมทางเศรษฐกิจของสังคมในระดับหน่วยย่อยเป็นสำคัญ มุ่งเน้นศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้ดำเนินกิจกรรมต่างๆในระบบเศรษฐกิจ ด้านพฤติกรรมของตลาดและกลไกราคา บางครั้งเรียกทฤษฎีเศรษฐศาสตร์จุลภาคว่า ทฤษฎีราคา (Price Theory)
2) เศรษฐศาสตร์มหภาค (Macroeconomics) เน้นศึกษาเรื่องราวหรือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมหรือระดับประเทศ เช่น การบริหารงบประมาณแผ่นดินประจำปี ปัญหาเงินเฟ้อ และรายได้ประชาชาติ เป็นต้น บางครั้งเรียกทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มหภาคว่า ทฤษฎีรายได้ประชาชาติ
ในปัจจุบันนี้ นักวิชาการนิยมศึกษาเศรษฐศาสตร์จุลภาคและมหภาคควบคู่กันไป จะเห็นได้ว่ามีการนำผลวิเคราะห์ทางด้านเศรษฐศาสตร์จุลภาคมาประยุกต์ใช้กับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มหภาคมากขึ้น ก็เพราะเศรษฐกิจส่วนรวม ย่อมมีองค์ประกอบที่เป็นเศรษฐกิจหน่วยย่อยๆรวมกัน และพฤติกรรมของแต่ละบุคคลหรือแต่ละหน่วยผลิตซึ่งเป็นเศรษฐกิจหน่วยย่อยๆ เพราะเศรษฐกิจหน่วยย่อยนี้ก็มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อพฤติกรรมและความเป็นไปของเศรษฐกิจในระดับประเทศหรือระดับส่วนรวมของสังคม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น